วิธีจัดการเครื่องมือที่ผลการวัดหลุดเกณฑ์การยอมรับ !!

วิธีจัดการเครื่องมือที่ผลการวัดหลุดเกณฑ์การยอมรับ !!

11 July 2023


เขียนโดย : ศุภวัฒน์ คำเวียง
ฝ่ายสอบเทียบ



สวัสดีครับทุกท่าน เมื่อพูดถึงเรื่องของเกณฑ์การยอมรับเมื่อเราได้ทำการส่งเครื่องมือไปสอบเทียบและนำผลการสอบเทียบที่ได้นั้นไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์การยอมรับแล้วพบว่าผลการวัดนั้นอยู่ในเกณฑ์การยอมรับก็หมายความว่าเครื่องมือนั้นสามารถใช้งานต่อไปได้ แต่ในกรณีที่พบว่าผลการสอบเทียบนั้นเกินจากเกณฑ์การยอมรับที่ระบุไว้ ในทางปฏิบัตินั้นก็สามารถแก้ไขได้หลายวิธีด้วยกันนะครับในวันนี้เราก็จะมาดูกันว่าเราจะมีวิธีการจัดการกับเครื่องมือที่ผลการวัดเกินเกณฑ์การยอมรับได้อย่างไรบ้างนะครับ


1.ปรับเกณฑ์การยอมรับให้เหมาะสม ในกรณีที่ผลการสอบเทียบไม่ผ่านเกณฑ์การยอมรับ ในบางกรณีก็พบว่าเกิดจากการตั้งเกณฑ์การยอมรับไม่เหมาะสม เช่นใช้ Spec.ของเครื่องมือมาตั้งเป็นเกณฑ์การยอมรับ ทำให้เมื่อเครื่องมือเกิดค่า Error ขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ค่าเกิณจากเกณฑ์การยอมรับที่ตั้งไว้แล้วดังนั้นเราจึงควรพิจารณาการตั้งเกณฑ์การยอมรับให้เหมาะสมกับการใช้งานเครื่องมือด้วยเช่นปรับไปใช้เกณฑ์การยอมรับจากมาตรฐานการผลิตหรือใช้เกณฑ์การยอมรับที่ดีกว่าเกณฑ์ของเครื่องมือที่นำวัด3-10เท่าเป็นต้น


2.ใช้ค่าแก้ (Correction) คือการใช้ค่าชดเชยสำหรับค่าผิดพลาดโดยนำมาบวกกับค่ายังไม่ปรับแก้ของการวัด
ในผลการสอบเทียบเราจะได้ค่า Error (ค่าผิดพลาด) ของเครื่องมือมาด้วย ซึ่งถ้าค่า Error นี้เกินจากเกณฑ์การยอมรับจะทำให้เครื่องมือไม่สามารถใช้งานต่อได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องใช้ค่าแก้ในการใช้งานเพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือต่อไปได้
ยกตัวอย่างวิธีใช้ค่าแก้ของตู้อบ (Oven) ที่ส่งไปสอบเทียบที่อุณหภูมิ 100°C พบว่าอุณหภูมิจริงที่วัดได้คือ 98°C ค่าแก้ของเครื่องมือคือ +2°C ต้องใช้ค่าแก้นี้ในระหว่างที่ใช้งานตู้อบ เช่นถ้าต้องการอบที่อุณหภูมิ 100°C จะต้องทำการปรับอุณหภูมิของตู้อบไปที่ 102°C เพื่อชดเชยค่า Error ที่เกิดขึ้นเป็นต้น


3.การซ่อมแซมเครื่องมือ ในบางครั้งค่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นก็มักจะมาจากความผิดปกติของเครื่องมือเอง ถ้าพบว่าเครื่องมือชำรุด เสียหาย หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นควรทำการซ่อมแซมแก้ไขให้เครื่องมือเป็นปกติก่อน แล้วจึงส่งเครื่องมือไปสอบเทียบอีกครั้ง


4.การปรับเทียบ โดยปกติแล้วเครื่องมือที่ถูกใช้งานมาเป็นระยะเวลานานๆ มักจะเกิดค่า Error ขึ้นได้ ทำให้ผู้ผลิตนั้นใส่ฟังก์ชั่นการปรับเทียบเครื่องมือไว้ที่เครื่องมือเพื่อที่จะใช้ในการปรับเทียบค่าให้เครื่องมือกลับมาวัดค่าได้ตรงอีกครั้ง หรือเครื่องมือบางชนิดจะสามารถใส่ค่าชดเชยค่า Error ได้ โดยวิธีการปรับเทียบเครื่องมือนั้นต้องใช้ความชำนาญและวิธีการที่เฉพาะตัว เครื่องมือลักษะเดียวกันอาจจะมีวิธีการปรับที่ต่างกัน ผู้ที่ทำหน้าที่ปรับเทียบควรเป็นเจ้าหน้าที่ของห้องปฏิบัติการสอบเทียบที่มีความชำนาญและต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการปรับเทียบตามคู่มือของเครื่องมือเท่านั้น


5.การลดเกรดของเครื่องมือ ในกรณีที่เครื่องมือไม่สามารถปฏิบัติตามหัวข้อต่างๆที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ได้อาจจะต้องทำการลดเกรดของเครื่องมือลงไปใช้ในงานที่มีเกณฑ์การยอมรับที่มากกว่า หรืองานที่ผลการสอบเทียบไม่กระทบกับคุณภาพของงาน หรือใช้งานที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบคุณภาพ เป็นต้น


6.ยกเลิกการใช้งาน ถ้าหากเครื่องมือไม่สามารถใช้วิธีต่างๆที่กล่าวมาในข้างต้นได้เลยเราจำเป็นจะต้องยกเลิกการใช้งานเครื่องมือหรือการจัดหาเครื่องมือใหม่ที่เหมาะสมกว่ามาใช้งานแทน บางครั้งพบว่าเครื่องมือที่ใช้นั้นไม่เหมาะสมกับเกณฑ์การยอมรับที่ตั้งไว้ เช่นความละเอียดของเครื่องมือไม่มากพอ ค่า Accuracy น้อยเกินไป เราก็ต้องหาเครื่องมือที่ละเอียดขึ้นหรือ Accuracy ดีกว่าเดิมเพื่อที่จะทำให้ผลการวัดผ่านเ
กณฑ์ที่ตั้งไว้



ทีนี้เราก็ได้ทราบแล้วนะครับว่าจะมีวิธีการตั้งเกณฑ์การยอมรับอย่างไร และมีวิธีการจัดการอย่างไรเมื่อเครื่องมือไม่ผ่านเกณฑ์การยอมรับที่ตั้งไว้ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำการเปลี่ยนเครื่องมือทุกครั้งที่เครื่องมือไม่ผ่านเกณฑ์ เรายังมีวิธีการแก้ไขอีกมากมายเพื่อจะทำให้สามารถใช้เครื่องมือนั้นๆต่อไปได้ เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถสร้างระบบการจัดการเครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วนะครับ



Subscribe

กรอกอีเมลเพื่อรับข่าวสาร โปรโมชั่น และกิจกรรมต่างๆ ของเราได้ที่นี่

fb twitter youtube youtube shopee lazada tiktok blockdit

Signin

Register

Forgot password

Products to Compare

0