พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับ กีฬาเรือใบ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับ กีฬาเรือใบ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับ กีฬาเรือใบ
“การแล่นใบ สอนให้คนคิดเอง ทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปเล่นเรือใบแล้วเรือไม่วิ่ง จะไม่มีใครมาคอยสอน
เราต้องคิดเอง ทำเอง ว่าลมมาทางไหน ลมแรงขนาดนี้ เราสู้ไหวไหม ถ้าไหวเราก็สู้
แต่ถ้าไม่ไหวแล้วเรายังสู้ เรือก็จะคว่ำ ถ้าลมเบา เราจะต้องทำอย่างไรเรือจึงจะวิ่งแล้วถ้าไม่มีลมเราจะทำอย่างไร
เราก็ควรจะนั่งรอสักครู่ให้ลมมา ถ้าเราเล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น
ถ้าเราเป็นตัวนี้ เด็กไทยเป็นตัวนี้แล้วนำมาใช้ในชีวิต นำมาใช้ในกิจการงานได้
ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต เด็กไทยจะรู้จักและเข้าใจในการคิดเอง ทำเอง”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษและทรงมีพระปรีชาสามารถในการแล่นใบ รวมทั้งมีพระอัจฉริยภาพในการต่อเรือใบด้วยพระองค์เองซึ่งเรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อเป็นเรือ ประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ พระราชทานชื่อเรือว่า “ราชประแตน” ทรงต่อเรือใบโอเคลำแรกชื่อ “นวฤกษ์” ทรงจัดตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้น คือ หมวดเรือใบหลวงจิตรลดา ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย และสโมสรเรือราชวรุณที่เมืองพัทยา นอกจากนี้ยังได้ทรงออกแบบเรือใบขึ้นอีกประเภทหนึ่ง พระราชทานชื่อว่า เรือมด ซึ่งได้ทรงจดลิขสิทธิ์ที่ประเทศอังกฤษเป็นประเภท INTERNATIONAL MOTH CLASS ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่ โดยได้พระราชทาน ชื่อว่าเรือใบ“ซูเปอร์มด” และเรือใบ “ไมโครมด” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นใบ
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2509 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงเรือใบประเภทโอเค ชื่อ เวคา จากหน้าวังไกลกังวล ข้ามอ่าวไทยไปยังอ่าวสัตหีบ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล ด้วยพระองค์เองเพียงพระองค์เดียว ทรงใช้เวลาในการแล่นใบถึง 17 ชั่วโมงเต็ม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงนำธง ราชนาวิกโยธิน ที่ทรงนำข้ามอ่าวไทยมาด้วยปักเหนือของก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวนาวิกโยธิน และหลังจากทรงปักธงราชนาวิกโยธินแล้ว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลาจารึก ต่อมาในปีเดียวกัน ได้พระราชทานหางเสือเรือพระที่นั่งเวคา ที่ทรงแล่นใบข้ามอ่าวไทย เพื่อเป็นรางวัลนิรันดร แก่ผู้ชนะเลิศในการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทยประจำปี ของสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.2510 เมื่อ วันที่ 16 ธันวาคม พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกีฬาเรือใบ ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ปวงชนชาวไทยก็คือ ทรงเป็นตัวแทนของนักกีฬาทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ได้เสด็จขึ้นบนแท่นรับเหรียญรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ซึ่งชัยชนะครั้งนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบให้เป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกและพระองค์เดียวในทวีปเอเชียที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือใบนานาชาติจนเป็นที่ยอมรับและจารึกในประวัติศาสตร์วงการกีฬาระดับโลก และต่อมาใน วันที่ 14 ธันวาคม 2530 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญทองดุษฎีกิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล คือ อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง) นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ได้รับเกียรติยศดังกล่าว
เมื่อเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงว่างจากพระราชภารกิจ พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเรือใบร่วมกับข้าราชบริพารและนายทหารเรือเสมอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแข่งขันเรือใบเป็นประจำ ระหว่างทีมสโมสรจิตรดา และทีมราชนาวี โดยทั้งสองทีมจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพในทุก ๆ ปี โดยจะจัดการแข่งขันในห้วงระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล และทรงเป็นผู้ชนะเลิศในการแข่งขันหลายครั้ง
เพื่อเป็นการระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงเป็นนักกีฬาตัวแทนของชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนชาวไทยเห็นคุณค่าความสำคัญของการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงได้มีมตินำเสนอคณะรัฐมนตรีลงความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2529 กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวัน "วันกีฬาแห่งชาติ" ตราบจนปัจจุบัน
ขอบคุณที่มาจาก : กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
***
ข่าวที่คุณอาจสนใจ
สินค้าแนะนำ
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
กรอกอีเมลเพื่อรับข่าวสาร โปรโมชั่น และกิจกรรมต่างๆ ของเราได้ที่นี่